ความรับผิดของผู้ถือหุ้น หุ้นส่วน หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมนิติบุคคล
ในการดำเนินธุรกิจมีรูปแบบการดำเนินการได้หลายวิธีการ
อาจจะดำเนินการเองด้วยตัวผู้ประกอบการแต่ละคนและรับผิดชอบภาระหนี้สินและรับผลกำไรทั้งหมดไว้ด้วยตัวเอง
อาจจะร่วมลงทุนกับบุคคลใกล้ชิดแต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลต่างหากโดยดำเนินการในลักษณะของ
“ห้างหุ้นส่วนสามัญ”
อาจจะร่วมลงทุนหลายคนแต่บางคนต้องการจำกัดความรับผิด ในขณะที่บางคนรับผิดโดยไม่จำกัดโดยจัดตั้งเป็น
“ห้างหุ้นส่วนจำกัด”
ในขณะที่บางกรณีอาจจะจัดตั้งเป็น “บริษัท” และให้ผู้ที่สนใจร่วมลงทุนเป็น “หุ้น” รูปแบบเหล่านี้บางครั้งถูกเปรียบเทียบเหมือนเป็น “ยานพาหนะ
(vehicle)” ที่นำพาผู้ประกอบธุรกิจไปสู่จุดหมายที่ต้องการ
บางครั้งอาจจะจัดตั้งเป็นองค์กรธุรกิจเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างโดยเฉพาะเจาะจง (Special
purpose vehicle – SPV)
ประโยชน์อย่างหนึ่งของการดำเนินธุรกิจโดยก่อตั้งเป็น
“นิติบุคคล”
ที่ทำให้องค์กรธุรกิจนั้นมี “สภาพบุคคล” ที่เป็นเหมือนมีตัวตนแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ลงทุนหรือผู้ดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น
คือ ทำให้ความรับผิดโดยเฉพาะภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นถูกจำกัดไปตามลักษณะของนิติบุคคลแต่ละประเภท
ภาระหนี้สินดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนที่แยกต่างหากจากหนี้ส่วนตัวของผู้ลงทุนในกิจการนั้น
หากนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นมีหนี้สินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้สินทั้งหมด
ผู้ลงทุนที่มีความรับผิดอย่างจำกัดย่อมไม่ต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินเหล่านั้นนอกเหนือไปจากส่วนการลงทุนที่มีอยู่ในนิติบุคคลนั้น
รูปแบบการลงทุนลักษณะเหล่านี้ช่วยให้การประเมินความเสี่ยงทางธุรกิจที่มีต่อการดำเนินการกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นไปอย่างชัดเจน
ผู้ประกอบธุรกิจสามารถประเมินได้ว่าหากธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
ความสูญเสียที่จะต้องรับภาระมีมากน้อยเพียงใด
และมีความคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่จะได้รับหรือไม่
การทำให้การประเมินความเสี่ยงมีความชัดเจนนี้เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการลงทุนมากขึ้น
เพราะรู้ว่ากรณีที่มีปัญหา ความสูญเสียจะมีขอบเขตเพียงใด
เมื่อมีการลงทุนมากขึ้นย่อมทำให้เศรษฐกิจมีโอกาสพัฒนา
มีการจ้างงานมากขึ้นและมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นด้วย
การก่อตั้งเป็น “นิติบุคคล”
เหล่านี้บางครั้งมีการนำไปใช้โดยมิชอบเป็นเหมือนการบิดเบือนเครื่องมือที่ให้ไว้และแทนที่จะใช้
“ยานพาหนะ”
เหล่านี้เพื่อการสร้างสรรค์ธุรกิจ “ยานพาหนะ” เหล่านี้ถูกใช้ไปเพื่อการหลบหนีจากความรับผิดที่จะเกิดขึ้นแทน
ทำให้เราพบเห็นข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในบางครั้งว่าบริษัทหลายแห่งล้มละลาย
แต่ผู้ถือหุ้นกลับร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ
บางครั้งการร่ำรวยขึ้นนี้อาจจะเกิดจากความระมัดระวังและมีการป้องกันความเสี่ยงหรือมีธุรกิจหลายแห่งก็ได้
แต่บางครั้งการร่ำรวยขึ้นในขณะที่ธุรกิจตนเองล่มจมนี้เกิดจากการทำให้ตัวธุรกิจนั้นอ่อนแอโดยถ่ายเททรัพย์สินออกจากธุรกิจไว้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและป้องกันเจ้าหนี้ของธุรกิจมาบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินเหล่านี้
ปัญหาลักษณะนี้ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่เจ้าหนี้ทางธุรกิจเท่านั้น
แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคด้วย หากมีหนี้สินที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องชำระ
แต่ปรากฏว่าทรัพย์สินที่ “นิติบุคคล” นั้นเหลืออยู่ไม่เพียงพอ
โดยมิใช่เกิดจากการที่ธุรกิจไม่ดีเพียงอย่างเดียว
แต่เกิดจากการกระทำของผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนที่ทำให้ทรัพย์สินของนิติบุคคลเหลือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ในกฎหมายของต่างประเทศมีหลักกฎหมายประการหนึ่งที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้วเรียกว่าเป็นการ
“เจาะม่านนิติบุคคล (Piecing the corporate veil)” ที่ทำให้กฎหมายสามารถเอื้อมฝ่าเกราะกำบังของความเป็น “นิติบุคคล” ให้ไปถึงตัวหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น และนำตัวบุคคลเหล่านั้นมารับผิดได้
แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการนี้ คือ การเจาะม่านนิติบุคคลนี้ถือเป็นข้อยกเว้นที่ใช้บังคับกับกรณีที่การกระทำของหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทรัพย์สินของนิติบุคคล
“สาบสูญ” ไม่ใช่เกิดจาก “ผลประกอบการ” หรือเป็นไปเพราะ “วงจรเศรษฐกิจ”
หากใช้หลักการนี้อย่างพร่ำเพรื่อจะทำให้ “เครื่องมือ” ในการประกอบธุรกิจด้วยการก่อตั้งเป็น “นิติบุคคล” เสียหาย กฎหมายเกี่ยวกับความเป็นนิติบุคคลเกิดความไม่แน่นอน (Legal
uncertainty) ทำให้การประกอบธุรกิจยากลำบากขึ้นและต้นทุนในการประกอบการสูงขึ้นตามความเสี่ยงของผลทางกฎหมายที่เพิ่มขึ้น
สุดท้ายอาจจะทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น
หลักเกณฑ์ที่กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคกำหนดไว้ที่จะมีผลทำให้สามารถ
“เจาะม่านนิติบุคคล” ได้จะต้องเป็นกรณีที่ (ก)
นิติบุคคลถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต (ข)
มีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค (ค) มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
และทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง
ตัวอย่างเช่นนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นไม่มีสภาพการดำเนินงานที่เป็นตัวตนที่แท้จริง
ก่อตั้งแต่ชื่อขึ้นมา “รายได้” ที่ได้รับก็ไม่เคยเข้าบัญชีของนิติบุคคลเลย แต่สูญหายไปเข้าบัญชีของผู้ถือหุ้นแทนโดยที่ไม่ได้ปรากฏหลักฐานที่มาที่ไปที่ชัดเจน
สุดท้ายเมื่อมีหนี้สินที่จะต้องบังคับ
นิติบุคคลนั้นไม่มีอะไรเหลืออยู่ให้บังคับชำระหนี้ได้เลย
ในกรณีที่เข้าตามหลักเกณฑ์ข้างต้น
ศาลอาจจะเรียกหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลหรือผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดี
และอาจพิพากษาให้บุคคลเหล่านี้ร่วมรับผิดชำระหนี้ที่นิติบุคคลมีต่อผู้บริโภคได้
หากเป็นกรณีของหนี้สินที่มีต่อผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันก็ยังคงต้องยึดถือหลักความเป็นนิติบุคคลตามปกติ
เพราะผู้ประกอบธุรกิจด้วยกันย่อมมีโอกาสเรียกหลักประกันหรือตรวจสอบสถานะทางการเงินของคู่ค้าได้อยู่แล้วจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกิจเอง
บุคคลที่ถูกเรียกเข้ามาในคดีดังกล่าวจะไม่ต้องรับผิดได้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของนิติบุคคล
ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินจากนิติบุคคลก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการรับมอบทรัพย์สินมานั้น
ตนเองได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริตไม่รู้ว่าการกระทำของนิติบุคคลเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินหรือนิติบุคคลนั้นมีพฤติกรรมฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค
และผู้รับมอบทรัพย์สินนั้นจะต้องได้เสียค่าตอบแทนเพื่อการที่ตนได้รับทรัพย์สินนั้นมาด้วย
ค่าตอบแทนในที่นี้คงจะต้องเป็นค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลในทางธุรกิจด้วย
ไม่ใช่รับมอบทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล
แต่เสียค่าตอบแทนพอเป็นพิธีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในกรณีของผู้รับมอบทรัพย์สินนี้จะรับผิดไม่เกินมูลค่าทรัพย์สินที่ตนได้รับมอบมา
บริษัท ไซฟอน จำกัด ก่อตั้งขึ้นและถือหุ้นใหญ่โดยสมชาย
สมศักดิ์ และสุจริต
แต่สุจริตมีธุรกิจอื่นอยู่ด้วยจึงปล่อยให้สมชายและสมศักดิ์เป็นผู้บริการกิจการบริษัท
ไซฟอน จำกัด ไป นานๆ ครั้งสุจริตจึงจะถามไถ่เกี่ยวกับกิจการที่ดำเนินอยู่
สมชายและสมศักดิ์แอบยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินออกไปจากบริษัทไปเป็นของส่วนตัวโดยที่สุจริตไม่รู้ข้อมูลมาก่อน
ในกรณีแบบนี้
หากจะเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นต้องรับผิดในหนี้สินที่มีต่อผู้บริโภคด้วย นายสุจริตอาจจะพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของนิติบุคคลและนายสุจริตไม่ได้รับมอบทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดไปเป็นของตนโดยมิชอบ
นายสุจริตจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินของบริษัทนอกเหนือไปจากเงินค่าหุ้นที่ได้ชำระไปครบถ้วนแล้ว
มาตรการนี้ย่อมทำให้ผู้บริโภคมีหนทางมากขึ้นที่จะทำให้ผู้ที่ดำเนินธุรกิจโดยไม่สุจริตต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนโดยไม่อาจใช้เกราะกำบังของความเป็นนิติบุคคลมาใช้เป็นเสมือน
“ยานพาหนะ”
ในการหลบหนีให้หลุดรอดไปจากหนี้สินที่ตนได้ก่อให้เกิดขึ้นและเอาเปรียบผู้บริโภคไปได้
ความรับผิดของผู้ถือหุ้น หุ้นส่วน หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมนิติบุคคล
กรณีที่จะสามารถเรียกให้ผู้ถือหุ้น
หุ้นส่วน หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมนิติบุคคลรับผิดได้ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า
·
นิติบุคคลถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต
·
มีพฤติการณ์ฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค
·
มีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของนิติบุคคลไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
และ
·
ทรัพย์สินของนิติบุคคลมีไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง
บุคคลที่อาจถูกเรียกเป็นจำเลยร่วมและต้องรับผิดชำระหนี้ของนิติบุคคลประกอบด้วย
· หุ้นส่วน
· ผู้ถือหุ้น
· บุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคล
· ผู้รับมอบทรัพย์สินของนิติบุคคล
บุคคลที่ถูกเรียกเป็นจำเลยร่วมจะไม่ต้องรับผิดต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่า
·
ตนเองมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำของนิติบุคคล
หรือ
·
กรณีเป็นผู้รับมอบทรัพย์สิน
ตนเองได้รับทรัพย์สินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
ผู้ที่รับมอบทรัพย์สินจะร่วมรับผิด
· ไม่เกินทรัพย์สินที่ได้รับจากนิติบุคคลนั้น
|
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น