ฮั้ว
สมมติว่าในธุรกิจบริการสปามีบริษัท เกรท
สปา จำกัด บริษัท กูท สปา จำกัด และบริษัท โซโซ สปา จำกัด
เป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดสามรายแรก โดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 20 ร้อยละ 10
และร้อยละ 7 ตามลำดับ
ทั้งสามบริษัทเป็นสมาชิกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสปาแห่งประเทศไทยที่ต่างเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง
นอกจากทั้งสามบริษัทแล้วสมาคมดังกล่าวมีสมาชิกรวม 100 ราย ต่อมาธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ตามกระแสสุขภาพที่ประชาชนต่างให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพของตนให้ดีที่สุด
ผลพวงประการหนึ่งที่ตามมากับความนิยมคือการที่มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจนี้มากขึ้นตามลำดับ
แทบจะเรียกได้ว่าในแต่ละสัปดาห์จะมีสถานบริการสปาเปิดใหม่ทุกสัปดาห์
จำนวนสถานบริการสปาที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้แต่ละรายต้องหาจุดเด่นและพยายามหากลยุทธ์ต่างๆ
ในการเรียกลูกค้ามาใช้บริการของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
กลยุทธ์ประการหนึ่งที่สถานบริการหลายแห่งนำมาใช้คือการลดราคาเพื่อหวังจะใช้ส่วนต่างของราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งในการจูงใจลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการของตน
ผลจากการแข่งขันตัดราคากันอย่างดุเดือดทำให้ผู้ประกอบกิจการหลายรายไม่สามารถประคับประคองธุรกิจของตนให้อยู่รอดต่อไปได้
ผู้ประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคมจึงได้ลดลงตามลำดับ
จนในที่สุดเหลือสมาชิกเพียง 50 รายจากเดิมที่มีอยู่กว่า 100 ราย
กรรมการบริหารสมาคมจึงได้ประชุมปรึกษาหารือกันถึงวิธีการที่จะช่วยทำให้ธุรกิจของสมาชิกอยู่รอดต่อไปได้
กรรมการบริหารสมาคมมีความเห็นว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมาชิกหลายรายต้องม้วนเสื่อหยุดประกอบกิจการไปเนื่องจากราคาที่เรียกเก็บในปัจจุบันแทบจะไม่คุ้มกับต้นทุนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย
ผลจากการตัดราคาทำให้พนักงานที่มีฝีมือจำนวนมากไม่ได้รับค่าตอบแทนดังที่ควรจะเป็น
ทำให้พนักงานที่มีฝีมือเหล่านี้ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นเวลานานลาออกไปทำงานด้านอื่นหลายคน
การลดราคายังทำให้คุณภาพการให้บริการลดลงด้วย
เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจต้องตัดหรือลดการให้บริการบางส่วนออกไปเพื่อทำให้ต้นทุนลดลง
ทำให้ลูกค้าหลายรายไม่พอใจกับคุณภาพการให้บริการจึงได้เลิกใช้บริการไป
กรรมการบริหารสมาคมจึงได้มีมติให้สมาชิกทุกรายกำหนดค่าบริการให้เป็นไปในอัตราเดียวกันสำหรับการให้บริการสปาแต่ละชนิด[1]
วัตถุประสงค์สำคัญที่กรรมการบริหารสมาคมระบุในการออกมติดังกล่าวคือเพื่ออนุรักษ์ธุรกิจสปาให้อยู่รอดได้
เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการที่ดี
และเพื่อรักษาพนักงานที่มีฝีมือให้สามารถมีรายได้เพียงพอที่จะประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้
ภายหลังจากที่สมาคมมีมติดังกล่าว
บรรดาสมาชิกสมาคมต่างก็กำหนดอัตราค่าบริการสปาของตนให้เป็นไปตามที่สมาคมกำหนดทั้งสิ้น
พฤติกรรมดังกล่าวนี้ถ้าจะเรียกเป็นภาษาทั่วๆ
ไปอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการ “ฮั้ว”
กันรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่มีการแอบแฝงทำในรูปของสมาคมผู้ประกอบธุรกิจลักษณะเดียวกัน
การกำหนดราคาสินค้าหรือบริการร่วมกันในระหว่างผู้ประกอบธุรกิจแต่ละครั้งจะมีการยกเหตุผลต่างๆ
ที่ฟังดูสวยงามเสมือนกำลังดำเนินภารกิจอันยิ่งใหญ่สำคัญสักอย่าง
เพราะคงไม่มีใครที่เมื่อร่วมมือกัน “ฮั้ว”
แล้วประกาศต่อสาธารณะชนว่าวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือต้องการตักตวงผลกำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
แต่แทบทุกครั้งล้วนมีผลที่ไม่แตกต่างกันคือราคาสินค้าหรือบริการที่กำหนดในการฮั้วล้วนสูงขึ้นและผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้น
หากสินค้าหรือบริการมีคุณภาพดี
“สมราคา” ที่มีการอ้างกันจริง
แม้ไม่มีการกำหนดราคาร่วมกัน
ผู้บริโภคคงยอมจ่ายตามราคาที่เหมาะสมนั้นเองโดยไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยการกำหนดราคาร่วมกันแต่อย่างใด
นอกจากนั้น
การกำหนดราคาร่วมกันยังขัดแย้งกับข้ออ้างในเรื่องของคุณภาพของสินค้าหรือบริการ
เพราะการกำหนดราคาเป็นราคาเดียวกันสื่อความหมายว่าคุณภาพของสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละแห่งเป็นอย่างเดียวกันซึ่งในทางปฏิบัติไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คุณภาพของสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจทุกรายเป็นอย่างเดียวกัน
เช่นเดียวกับเหตุผลในการรักษาพนักงานที่มีฝีมือไว้ในธุรกิจ
เพราะหากคุณภาพของฝีมือนั้น “สมราคา”
ผู้บริโภคย่อมยินดีจ่าย “แพง”
ขึ้นเพื่อให้ได้ฝีมือที่ดีกว่านั้นเอง
การอนุรักษ์ธุรกิจให้อยู่รอดได้ก็เป็นเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน
เพราะแม้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายอาจจะไม่สามารถประคับประคองธุรกิจของตนให้ตลอดรอดฝั่ง
แต่ย่อมมีผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่ยังคงสามารถประกอบกิจการต่อไปได้
ผู้บริโภคย่อมสามารถซื้อหาสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้นได้อยู่
การที่ผู้ประกอบธุรกิจบางรายต้องเลิกกิจการไปนั้นเป็นเพราะผู้บริโภคเห็นว่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้น
“สู้”
สินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของคุณสมบัติ
คุณภาพหรือราคาก็ตาม หากผู้บริโภคจำนวนมากพอเห็นว่าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้น
“ดีพอ” ผู้บริโภคย่อมจะ “ลงคะแนนไว้วางใจ”
ด้วยการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้นแต่แรก
การ
“ฮั้ว” กันนี้บางครั้งอาจจะปรากฏในหลายรูปแบบ
รูปแบบประการหนึ่งที่อาจทำขึ้นคือการกำหนด “ราคาสูงสุด” ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะคิดหรือเรียกเก็บจากผู้บริโภค หากมองดูแบบผิวเผิน
การกำหนดราคาสูงสุดน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค
เพราะจะได้ซื้อสินค้าหรือบริการในราคาที่ไม่เกินกว่าที่มีการตกลงกำหนดไว้
แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีการกำหนดราคาในลักษณะดังกล่าวนี้
ผู้ประกอบธุรกิจที่ร่วมตกลงด้วยแต่ละรายจะคิดราคาในระดับเดียวกับที่เป็นราคาสูงสุดนั้น
ผลที่ได้จึงไม่แตกต่างจากการร่วมกันกำหนด “ราคาขั้นต่ำ” หากผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้น “หวังดี”
อย่างแท้จริงต่อผู้บริโภคก็ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดราคาสูงสุดไว้แต่อย่างใด
ผู้ประกอบธุรกิจสามารถทำได้โดยเพียงแต่ลดราคาสินค้าหรือบริการของตนลงมา
การที่ผู้ประกอบธุรกิจบางรายตั้งราคาไว้สูงจนแม้จะเกินราคาสูงสุดที่ตั้งไว้ย่อมจะทำให้ผู้บริโภคไม่ไปซื้อหาสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจเหล่านั้นเองและหันไปซื้อจากผู้ประกอบธุรกิจที่ตั้งราคาสินค้าหรือบริการไว้ต่ำกว่าอยู่แล้ว
การ
“ฮั้ว”
กันนอกจากจะกำหนดราคาสินค้าหรือบริการร่วมกันแล้วยังสามารถทำได้ด้วยการกำหนด “ปริมาณ”
สินค้าหรือบริการที่จะเสนอขายให้แก่ผู้บริโภค ในการกำหนดปริมาณนี้
ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายจะได้รับ “โควตา” สินค้าหรือบริการที่จะเสนอขายต่อผู้บริโภคได้ เช่นในกรณีของธุรกิจสปาที่เป็นกรณีศึกษาของเรานี้
หากสมาคมกำหนดจำนวนสถานบริการสปาในแต่ละท้องที่ให้มีจำนวนไม่เกินจากที่กำหนดย่อมจะเป็นการกำหนดหรือจำกัด
“ปริมาณ”
ของบริการที่จะเสนอขายต่อผู้บริโภคตามไปด้วย
การกำหนด
“ปริมาณ”
สินค้าหรือบริการร่วมกันนี้แม้จะไม่ได้เกี่ยวกับ “ราคา” สินค้าหรือบริการโดยตรง แต่จะส่งผลกระทบต่อ “ราคา” สินค้าหรือบริการในตลาดตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหาก “ปริมาณ”
สินค้าหรือบริการที่มีอยู่ในท้องตลาดที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้มีจำกัดหรือลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต่ำกว่า
“ความต้องการ” สินค้าที่มีอยู่ย่อมจะทำให้
“ราคา”
ของสินค้าหรือบริการนั้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผลสุดท้ายจึงจะทำให้ผู้บริโภคอาจจะไม่สามารถซื้อหาสินค้าหรือบริการได้ง่ายเหมือนเดิมและอาจจะทำให้ต้องจ่าย
“แพง”
ขึ้นจากผลของการที่ปริมาณสินค้าหรือบริการนั้นลดลง
ทั้งการร่วมกันกำหนด
“ราคา” และ “ปริมาณ” ของสินค้าหรือบริการจึงล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่กฎหมายการแข่งขันทางการค้าห้ามไว้เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจบิดเบือนกลไกตลาดอันจะทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย
ห้ามผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่แข่งขันในตลาดเดียวกันทำการจำกัดการแข่งขันในตลาดด้วยการกำหนดราคาขายหรือซื้อสินค้าหรือบริการเป็นราคาเดียวกันหรือตามที่ตกลงกัน
|
[1] กรณีศึกษานี้เป็นเพียงการแสดงตัวอย่างสภาพการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการร่วมกันกำหนดราคาสินค้า
โดยไม่ได้คำนึงถึง “ความสำเร็จ”
ของมาตรการที่นำมาใช้ เนื่องจาก “ความสำเร็จ”
ของการกำหนดราคาสินค้าร่วมกันยังมีปัจจัยอื่นอีกมากที่ต้องคำนึงถึง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น