ผู้มีอำนาจเหนือตลาด
พฤติกรรมในตลาดของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายย่อมจะส่งผลกระทบต่อปริมาณสินค้าและราคาสินค้าในตลาดที่ไม่เหมือนกัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลกระทบดังกล่าวแตกต่างกันคือส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละราย
หากการกระทำลักษณะหนึ่งเป็นของผู้ประกอบธุรกิจบางรายที่มีขนาดเล็ก
การกระทำนั้นอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณสินค้าหรือราคาสินค้าในท้องตลาดมากนัก
แต่หากเราให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่เป็นผู้กระทำการลักษณะเดียวกันนั้นแทน
อาจจะเกิดผลกระทบต่อปริมาณสินค้าหรือราคาสินค้าในท้องตลาดได้มาก
สมมติว่าตลาดกาแฟสำเร็จรูปในประเทศไทย
มีผู้ประกอบธุรกิจอยู่ 3 ราย ประกอบด้วยบริษัท เน็กซ์ กาแฟ จำกัด บริษัท
ปากช่องกาแฟ จำกัด และบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ จำกัด บริษัท เน็กซ์ กาแฟ จำกัด
เป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดประมาณร้อยละ 80
ของปริมาณกาแฟสำเร็จรูปที่จำหน่ายทั้งหมด บริษัท ปากช่องกาแฟ จำกัด
มีส่วนแบ่งตลาดรองลงมาประมาณร้อยละ 15 และบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ
จำกัดมีส่วนแบ่งตลาดน้อยที่สุดเพียงประมาณร้อยละ 5
ของปริมาณกาแฟสำเร็จรูปที่จำหน่ายทั้งหมด
หากบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ จำกัด
พยายามจะทำให้ราคากาแฟในท้องตลาดสูงขึ้นด้วยการลดกำลังการผลิตกาแฟส่วนของตนเองลงโดยหวังว่าปริมาณกาแฟสำเร็จรูปที่เหลืออยู่จะน้อยกว่าความต้องการกาแฟสำเร็จรูป
ทำให้ราคากาแฟสำเร็จรูปสูงขึ้นบ้าง การกระทำดังกล่าวย่อมไม่เกิดผลกระทบใดๆ
ในตลาดกาแฟสำเร็จรูป เพราะส่วนแบ่งตลาดของบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ
จำกัดมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น บริษัท เขามุทะลุ กาแฟ
จำกัดย่อมจะลดปริมาณการผลิตไม่ได้มาก
เพราะแม้จะลดกำลังการผลิตลงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตทั้งหมด
ปริมาณสินค้าที่หายไปในกรณีนี้คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.5
ของปริมาณกาแฟสำเร็จรูปในตลาดทั้งหมดเท่านั้น ปริมาณสินค้าที่หายไปนี้สามารถทดแทนได้ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ขายที่เหลืออีกสองรายได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
การลดกำลังการผลิตของบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ จำกัด จึงย่อมไม่ส่งผลกระทบใดๆ
ต่อตลาดสินค้ากาแฟสำเร็จรูป
เช่นเดียวกับกรณีที่บริษัท เขามุทะลุ
กาแฟ จำกัด ต้องการจะได้กำไรมากขึ้น จึงได้ขึ้นราคาสินค้าของตนไปอีกร้อยละ 10
จากราคาปัจจุบัน การขึ้นราคาดังกล่าวนอกจากจะไม่ทำให้บริษัท เขามุทะลุ กาแฟ จำกัด
ได้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างที่ต้องการแล้วยังอาจทำให้ขายได้น้อยลงมากจนสู้กับคู่แข่งไม่ได้อีกด้วย
เพราะในกรณีลักษณะนี้ ผู้บริโภคย่อมสามารถไปซื้อหาสินค้าของบริษัท เน็กซ์กาแฟ
จำกัดและบริษัท ปากช่อง กาแฟ จำกัด ที่จำหน่ายในราคาถูกกว่าได้อย่างเพียงพอตามที่ต้องการ
จนสุดท้ายลูกค้าส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ติดอกติดใจกับรสชาติกาแฟของบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ
จำกัด ชนิดที่เป็นแฟนพันธ์แท้คงจะไม่ซื้อสินค้าของบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ จำกัด
จะเหลือก็แต่ลูกค้าที่เป็นแฟนพันธ์แท้จริงๆ เท่านั้น การขึ้นราคาลักษณะนี้จึงไม่ทำให้ได้ผลกำไรเพิ่ม
สุดท้ายบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ
จำกัดก็ย่อมจะต้องลดราคาสินค้าของตนลงมาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับรายอื่นๆ ได้
พฤติการณ์ลักษณะเดียวกันนี้
หากเราเปลี่ยนไปให้บริษัท เน็กซ์กาแฟ จำกัด
ซึ่งเป็นผู้มีส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่เป็นผู้ทำ แทนที่จะเป็นการดำเนินการของบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดน้อย
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในตลาดสินค้าชนิดนั้นย่อมผิดไปจากเดิมมาก
ในตลาดกาแฟที่เราสมมติขึ้นนี้
หากปริมาณกาแฟที่ขายในท้องตลาดมีประมาณ 1,000 ตัน
ปริมาณกาแฟที่บริษัท เน็กซ์กาแฟ จำกัดขายในแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 800 ตันต่อปี ปริมาณกาแฟที่บริษัท ปากช่องกาแฟ จำกัด
ขายแต่ละปีจะอยู่ที่ประมาณ 150 ตันต่อปี และบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ จำกัด
จะผลิตกาแฟขายประมาณ 50 ตันต่อปี
หากบริษัท
เน็กซ์กาแฟ จำกัด ลดกำลังการผลิตสินค้าของตนลงเพียงร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตเท่าที่มีอยู่ของตน
จะทำให้ปริมาณสินค้าหายไปจากท้องตลาดประมาณ 160 ตันต่อปี หรือมากกว่าร้อยละ 15
ของปริมาณสินค้าในท้องตลาดทั้งหมด
ปริมาณสินค้าที่หายไปนี้ย่อมจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในท้องตลาดเนื่องจากความต้องการสินค้าของผู้บริโภคที่มีอยู่อาจจะมากกว่าปริมาณสินค้าที่จะสามารถรองรับได้
แม้สินค้าจะมีน้อยกว่าความต้องการในตลาด
แต่บริษัท ปากช่องกาแฟ จำกัดและบริษัท เขามุทะลุ กาแฟ
จำกัดย่อมไม่สามารถผลิตสินค้ามาทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น
เนื่องจากปริมาณสินค้าที่หายไปนี้มากกว่าปริมาณสินค้าที่บริษัท ปากช่อง กาแฟ
จำกัดผลิตทั้งหมดในแต่ละปี หากจะเพิ่มกำลังการผลิตก็จะต้องเพิ่มขึ้นอีกกว่าหนึ่งเท่าตัว
แม้จะสามารถทำได้แต่ต้องใช้ระยะเวลาและเงินลงทุนจำนวนมากซึ่งไม่แน่นักว่าบริษัท
ปากช่องกาแฟ จำกัดจะสามารถทำได้ นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงอีกว่าหากในระหว่างที่บริษัท
ปากช่องกาแฟ จำกัด อยู่ในระหว่างเพิ่มกำลังการผลิต บริษัท เน็กซ์กาแฟ จำกัด
เกิดเพิ่มกำลังการผลิตกลับไปเท่าเดิม สินค้าที่บริษัท ปากช่องกาแฟ
จำกัดผลิตเพิ่มจึงอาจกลายเป็น “ส่วนเกิน”
ในตลาดที่ไม่สามารถขายได้
หรือหากจะขายได้ก็ต้องลดราคาลงไปอีกอันจะทำให้ได้คืนทุนที่ลงไปในการเพิ่มกำลังการผลิตช้าไปอีก
ในกรณีที่บริษัท
เน็กซ์กาแฟ จำกัด ขึ้นราคาสินค้าก็จะมีผลกระทบที่คล้ายคลึงกันคือ
ผู้บริโภคอาจจะไม่ซื้อสินค้าของอีกสองบริษัทมากขึ้นกว่าเดิม
แต่ด้วยกำลังการผลิตของอีกสองบริษัทที่มีอยู่ไม่มากนัก
คนที่จะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าของอีกสองบริษัทได้จึงมีไม่มากนัก คนอีกส่วนใหญ่ยังคงต้องจำใจซื้อสินค้าจากบริษัท
เน็กซ์กาแฟ จำกัด ในราคาที่สูงขึ้นนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อย่างไรก็ตาม
การยกตัวอย่างพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของบริษัท
เขามุทะลุ กาแฟ จำกัด หรือกรณีของบริษัท เน็กซ์กาแฟ จำกัด ไม่ได้หมายความว่าพฤติกรรมการลดปริมาณการผลิตหรือขึ้นราคาสินค้าในทั้งสองกรณีเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่แตกต่างกันในระหว่างพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะทางการตลาดที่แตกต่างกันสองราย
ด้วยการที่
“ผลกระทบ” จากพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดที่แตกต่างกันนี้เอง
ทำให้กฎหมายต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษกับพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะหรืออิทธิพลในตลาดเหนือกว่าผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น
และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายที่กำกับพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่เข้มงวดกว่าผู้ประกอบธุรกิจโดยทั่วไป
ผู้ประกอบธุรกิจที่อาจตกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเป็นพิเศษนี้เรียกว่า “ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด”
การกำกับดูแลของกฎหมายในที่นี้เป็นการกำกับดูแลมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดใช้อำนาจเหนือตลาดที่มีอยู่ไปบิดเบือนกลไกตลาดด้วยวิธีการใดๆ
ที่ไม่ใช่เป็นการแข่งขันหรือการประกอบธุรกิจตามปกติทั่วๆ ไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ดังนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดนี้ประกอบธุรกิจไปตามปกติ
แต่ปรากฏว่าสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากตัวสินค้าที่เสนอขายเอง
กฎหมายย่อมไม่สามารถไปห้ามการประกอบธุรกิจของผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกรณีนี้ได้
เช่นเดียวกับไม่สามารถไปบังคับผู้บริโภคได้ว่าไม่ให้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ
แล้วบังคับให้ไปซื้อสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่ผู้บริโภคไม่ชอบใจในคุณภาพหรือราคาของสินค้าที่ขาย
แม้ว่าท้ายที่สุดจะไม่มีผู้บริโภครายใดที่ต้องการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเลยก็ตาม
เนื่องจากการที่กฎหมายกำหนด
“มาตรฐาน” การประกอบธุรกิจสำหรับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดไว้แตกต่างจากผู้ประกอบธุรกิจทั่วๆ
ไป การระบุหรือกำหนดว่าผู้ประกอบธุรกิจรายใดเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
ตามกฎกระทรวงที่กำหนดเกี่ยวกับ
“ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” จึงได้วางหลักเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณาว่าผู้ประกอบธุรกิจรายใดเป็นผู้ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดไว้โดยเฉพาะ
หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่ใช้ในการพิจารณามี 2 ประการ ประการแรกคือส่วนแบ่งตลาด
และประการที่สองคือยอดขาย
ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ
50 ขึ้นไป และต้องมียอดขายในปีที่ผ่านคิดเป็นเงินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนั้น
ในกรณีที่ตลาดสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดสามรายแรกรวมกันตั้งแต่ร้อยละ
75 ขึ้นไปและมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป
ผู้ประกอบธุรกิจทั้งสามรายดังกล่าวอาจถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดได้เช่นกัน
ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด
ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมี
· ส่วนแบ่งตลาด
ตั้งแต่ร้อยละ 50 และ
· ยอดเงินขาย
ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
นอกจากนั้น
รวมถึงกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรกในตลาดที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันตั้งแต่ร้อยละ
50 และมียอดเงินขายรวมกันตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
|
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น