แบ่งท้องที่ทำธุรกิจ
บริษัท
สวีทมอร์ จำกัด และบริษัท สวีทโมส จำกัด
เป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศครอบครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 95 ของปริมาณน้ำตาลที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
บริษัททั้งสองผลิตน้ำตาลออกมาจำนวนมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดตกต่ำ บริษัททั้งสองจึงได้หารือและทำความตกลงกันแบ่งพื้นที่ในการขายสินค้า
โดยบริษัท สวีทมอร์ จำกัด จะขายสินค้าในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคกลางตอนบน ส่วนบริษัท สวีทโมส จำกัด จะขายสินค้าในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง
ภาคตะวันออกและภาคใต้
บริษัททั้งสองนั้นตามปกติถือว่าเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน
การที่บริษัททั้งสองตกลงร่วมกันในการแบ่งท้องที่ว่าใครจะทำธุรกิจในท้องที่ใดบ้างย่อมจะทำให้เกิดผลกระทบหลายประการ
ผลประการสำคัญคือทำให้การเสนอขายสินค้าหรือบริการชนิดที่อยู่ภายใต้ความตกลงนั้นมีจำกัดตามจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่เสนอขายสินค้าหรือบริการในท้องที่ที่ผู้บริโภคแต่ละรายอยู่
จากเดิมผู้บริโภคจะซื้อหาสินค้ายี่ห้อของบริษัทใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นของบริษัท
สวีทมอร์ จำกัด หรือบริษัท สวีทโมส จำกัด หรือจะเป็นของผู้ขายรายย่อยอื่นๆ
แต่เมื่อเกิดมีข้อตกลงดังกล่าวนี้ทำให้ในพื้นที่หนึ่ง
ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกเพียงระหว่างสินค้าของบริษัท สวีทมอร์ จำกัด หรือบริษัท
สวีทโมส จำกัด บริษัทใดบริษัทหนึ่งกับของผู้ขายรายย่อยอื่น ๆ เท่านั้น
ผลที่สำคัญอีกประการหนึ่งคืออาจทำให้เกิดการผูกขาดการขายสินค้าหรือให้บริการชนิดที่อยู่ภายใต้ความตกลงนั้นได้
หากในท้องที่ที่กำหนดไว้มีเพียงผู้ประกอบธุรกิจที่ร่วมทำความตกลงให้บริการอยู่เพียงรายเดียวหรือเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่ครอบครองตลาดจำนวนมาก
ผู้ประกอบธุรกิจนั้นย่อมจะเกิดอำนาจผูกขาดในตลาดสินค้าหรือบริการชนิดนั้น
แม้การผูกขาดในที่นี้จะไม่ได้เป็นการผูกขาดในภาพรวมของตลาดใหญ่ทั้งประเทศ
แต่อย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นการผูกขาดใน “ท้องที่” ที่มีการตกลงกันแบ่งให้ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายสามารถประกอบธุรกิจได้ ในกรณีนี้
ภายหลังเกิดข้อตกลงข้างต้นแล้ว แทบจะเรียกได้ว่าในแต่ละท้องที่จะมีผู้ขายรายใหญ่อยู่เพียงรายเดียวซึ่งอาจจะเป็นบริษัท
สวีทมอร์ จำกัด หรือบริษัท สวีทโมส จำกัด แล้วแต่ว่าผู้บริโภคอยู่ในพื้นที่ใด
เนื่องจากในพื้นที่ของบริษัท สวีทมอร์ จำกัด บริษัท สวีทโมส
จำกัดก็จะไม่ส่งสินค้าเข้าไปขายแข่ง เช่นเดียวกับกรณีที่เป็นพื้นที่ของบริษัท
สวีทโมส จำกัด บริษัท สวีทมอร์ จำกัดก็จะไม่ส่งสินค้าเข้าไปขายแข่งเช่นกัน
สถานการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้บริษัทที่ผูกขาดสามารถทำอะไรก็ได้ดังใจในตลาดที่ตนเองครอบครองตามข้อตกลง
บริษัทนั้นสามารถ “ลด” ปริมาณสินค้าในตลาดเพื่อทำให้ความต้องการของสินค้าของผู้บริโภคมีมากกว่าสินค้าที่วางขาย
ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย หรืออาจจะ “ขึ้น” ราคาสินค้าไปในทันทีโดยไม่ต้องลดปริมาณการผลิตก็อาจทำได้
ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ
ที่ราคาส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้จะไม่เกิดขึ้นหากในท้องที่นั้นมีผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ทั้งสองรายส่งสินค้าเข้าไปค้าขายแข่งขันซึ่งกันและกัน
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้
การทำความตกลงเพื่อจะแบ่งหรือกำหนดว่าท้องที่ใดให้เป็นท้องที่ในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายใดจึงเป็นเรื่องที่ต้องห้ามตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
ในอีกสถานการณ์หนึ่งที่อาจจะเป็นมุมกลับของกรณีดังกล่าวข้างต้นคือนอกจากบริษัททั้งสองจะตกลงเกี่ยวกับท้องที่ที่แต่ละบริษัทจะส่งสินค้าเข้าไปขายแล้ว
บริษัททั้งสองยังตกลงกันเกี่ยวกับการรับซื้อ “อ้อย” เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำตาลด้วย โดยในท้องที่หนึ่งให้บริษัท สวีทมอร์
จำกัดเป็นผู้มีสิทธิซื้ออ้อยจากเกษตรกรในท้องที่นั้นเพียงรายเดียว และให้บริษัท
สวีทโมส จำกัด เป็นผู้มีสิทธิซื้ออ้อยในอีกท้องที่หนึ่ง
แม้ในกรณีดังกล่าวจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสินค้าที่บริษัททั้งสองจะนำไปขายให้แก่ผู้บริโภค
แต่ก็ถือว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดอีกลักษณะหนึ่งเพราะทำให้เกิดการผูกขาดในส่วนของ
“ผู้ซื้อ” สินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ในกรณีลักษณะนี้
บริษัททั้งสองสามารถกดราคารับซื้ออ้อยที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าได้อย่างเต็มที่
เพราะทั้งสองบริษัทเป็นผู้ซื้อรายใหญ่
หากไม่ขายให้แก่บริษัทที่เป็นผู้รับซื้ออ้อยในท้องที่นั้นแล้ว
เกษตรกรผู้ผลิตอ้อยก็ไม่รู้ว่าจะไปขายให้ใครได้อีก
เนื่องจากผู้ซื้อรายอื่นซื้อเพียงจำนวนเล็กน้อย
การตกลงกำหนดแบ่งท้องที่ที่จะซื้อสินค้าจึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ต้องห้ามตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
ห้ามผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่แข่งขันในตลาดเดียวกันทำการจำกัดการแข่งขันในตลาดด้วยการแบ่งท้องที่ที่จะจำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการ
โดยผู้ประกอบธุรกิจอื่นนั้นจะไม่จำหน่ายหรือซื้อสินค้าหรือบริการในลักษณะที่แข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจนั้น
|
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น