พ่วงได้พ่วงดี
เก่ง สอบได้คะแนนดี แม่จึงตกลงที่จะให้รางวัลเก่งเพื่อเป็นกำลังใจ
“เก่งอยากได้อะไรละลูก” “ผมอยากได้เครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ครับแม่
เพื่อนๆ ผมเค้ามีกันหมดแล้ว เป็นรุ่น PlayAll เพื่อนๆ
ผมเค้าบอกว่ารุ่นนี้ดีมากเลย ตอนที่ออกใหม่ๆ
เค้าต้องไปเข้าคิวจองที่หน้าร้านตั้งแต่ตีห้าแนะครับ ภาพกราฟฟิกคมชัดมากเลย ใครๆ
เค้าก็ใช้แต่เครื่องรุ่นนี้กันทั้งนั้นเลยครับ
เพื่อนผมทุกคนใช้เครื่องรุ่นนี้เหมือนกันหมดเลยครับ แม่ซื้อรุ่นนี้ให้ผมนะครับ”
แม่เก่งใจอ่อนจึงพาไปซื้อเครื่องเล่นเกมรุ่นดังกล่าวที่ร้านในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
เมื่อไปถึงพนักงานขายแจ้งราคาให้ทราบว่าราคาเครื่องเล่นเกมรุ่นดังกล่าวเป็นเงิน
12,000 บาท
แต่พนักงานขายแจ้งด้วยว่าหากต้องการซื้อเครื่องเล่นเกมรุ่นนี้จะต้องซื้อเกมของบริษัทที่ผลิตเครื่องเล่นเกมด้วยอีกสองเกมเพราะตอนที่ร้านซื้อมาจากบริษัทผู้ผลิต
บริษัทผู้ผลิตก็กำหนดให้ต้องซื้อทั้งเครื่องและเกมมาด้วยเช่นเดียวกัน
ราคาเกมอีกสองเกมคิดเป็นเงินอีก 2,000 บาท
เก่งรบเร้าแม่ตลอดเวลาจนแม่ทนไม่ไหวจึงต้องยอมซื้อเครื่องเล่นเกมที่เก่งต้องการพร้อมด้วยเกมอีกสองเกม
กรณีดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่าแม่ของเก่งต้องการซื้อ
“เครื่องเล่นเกม” ให้ลูก แต่เมื่อไปถึงกลับต้องซื้อ “เกม” ด้วยอีกสองเกมเนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่ร้านกำหนด
“เกม”
ในที่นี้เป็นสินค้าที่ผู้ซื้อไม่ต้องการจะซื้อ
เนื่องจากแม้ซื้อเครื่องเล่นเกมไปแล้วจะต้องมีเกมเล่นด้วยก็ตาม
แต่เกมก็มีหลายประเภท “เก่ง”
เองก็อาจจะต้องการเล่นเกมอื่นที่วางขายในท้องตลาด แม่ของเก่งเองก็อาจจะต้องการให้ลูกเล่นเกมประเภทอื่นมากกว่าจะเล่นเกมที่ถูกบังคับให้ซื้อมาพร้อมกับเครื่องนี้
พฤติกรรมดังกล่าวนี้เราเรียกว่าเป็นการ
“ขายพ่วง” ซึ่งจะต้องประกอบด้วยสินค้าสองชนิด
ชนิดแรกเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อมาบริโภคหรือใช้งานจริงๆ
เราเรียกว่าเป็น “สินค้าที่มีการพ่วง (Tying product)” ชนิดที่สองเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อไม่ได้มีความต้องการจะซื้อมาบริโภคหรือใช้งานจริงๆ
แต่จำเป็นต้องซื้อเนื่องจากผู้ขายบังคับหรือกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ต้องซื้อไปพร้อมกับสินค้าชนิดแรก
เราเรียกสินค้าชนิดที่สองนี้ว่า “สินค้าที่ถูกนำไปพ่วง (Tied product)” หากเราพิจารณาจากกรณีข้างต้น “สินค้าที่มีการพ่วง” ในกรณีนี้คือ “เครื่องเล่นเกม”
เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผู้ซื้อต้องการซื้อ ส่วน “เกม” สองเกมที่ต้องซื้อไปพร้อมกับเครื่องเล่นเกมนั้นถือว่าเป็น “สินค้าที่ถูกนำไปพ่วง”
การกำหนดเงื่อนไขในการซื้อสินค้าในลักษณะของการ
“พ่วง”
สินค้าสองชนิดเข้าด้วยกันนี้อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน
สาเหตุประการหนึ่งคือผู้ประกอบธุรกิจที่ผลิตหรือจำหน่าย “สินค้าที่มีการพ่วง”
ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดในสินค้าประเภทนี้ต้องการจะใช้อำนาจทางการตลาดที่ตนมีอยู่จาก “สินค้าที่มีการพ่วง”
นี้ไปใช้เพื่อขยายอำนาจเหนือตลาดนั้นให้เข้าไปครอบคลุมตลาดสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ตนอาจจะยังไม่ได้มีส่วนแบ่งตลาดมากนัก
แต่การ
“พ่วง”
ขายสินค้าอาจจะทำขึ้นเนื่องจากสาเหตุประการอื่นอีกก็ได้ เช่น ในกรณีของร้านขายส่ง “เกม” ที่จะต้องส่งสินค้าไปให้ร้านค้าปลีกต่างๆ
อาจจะกำหนดให้ซื้อ “เกม”
เป็นชุดไปหลายๆ เกมพร้อมๆ กัน
โดยกำหนดราคาเหมารวมเป็นชุดหรืออาจกำหนดราคาเป็นราคาเดียวเท่ากันทุกเกม
การกระทำในลักษณะนี้อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากกรณีก่อนหน้านี้พอสมควร
เพราะบางครั้งการกระทำในลักษณะหลังนี้อาจจะทำขึ้นเพื่อทำให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากสินค้า (ในที่นี้คือ เกม) แต่ละชิ้นอาจจะมี “มูลค่า” ทางธุรกิจที่ไม่เท่ากัน
สินค้าที่ได้รับความนิยมสูงและเป็นที่ต้องการมากย่อมจะต้องมี “มูลค่า” สูงกว่าตามไปด้วย เช่นเดียวกัน
สินค้าที่อาจจะพอขายได้แต่ไม่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายชนิดที่ต้องแย่งกันซื้อย่อมจะมี
“มูลค่า” ทางธุรกิจที่ต่ำกว่าตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น
หาก “เกมสงครามล้างพิภพ” เป็นที่ต้องการของผู้เล่นเกมมาก
แต่ “เกมแต่งตัวตุ๊กตา”
มีผู้นิยมเล่นน้อย “มูลค่า”
ทางธุรกิจของเกมทั้งสองย่อมต้องต่างกัน และ “ราคา” ในทางธุรกิจย่อมต้องต่างกันไปด้วย
แต่หากในแต่ละเดือนมีเกมใหม่ออกสู่ท้องตลาดจำนวนมากและร้านค้าปลีกเกมที่จะต้องจัดส่งสินค้าไปขายก็มีจำนวนมาก
การเจรจาตกลงราคาเป็น “รายเกม” กับ “แต่ละร้าน” อาจจะเป็นวิธีการที่ไม่สามารถปฏิบัติได้
เพราะจะทำให้เสียเวลาในการเจรจาตกลงราคาแยกแต่ละเกมค่อนข้างมาก
ยิ่งหากจำนวนร้านค้าปลีกมีจำนวนมาก
แม้แต่การโทรศัพท์หรือเดินทางไปคุยราคาให้ครบทุกร้านก็แทบจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แล้ว
วิธีการขายรวมกันเป็นชุดจึงอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาทำนองนี้ได้
ทำให้แต่ละฝ่ายไม่ต้องมานั่งคุยราคาเป็นแต่ละรายการไป การดำเนินการในลักษณะนี้อาจจะทำให้ดูเหมือนว่า
“ราคา”
ของเกมที่ไม่เป็นที่นิยมสูงกว่าที่จะจ่ายจริงหากมีการตกลงราคาเป็นรายการไป
แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง “ราคา”
ของเกมที่ได้รับความนิยมหากต้องตกลงซื้อขายกันเป็นรายเกมแล้วก็อาจจะสูงกว่าราคาที่เฉลี่ยจากการขายเหมาเป็นชุดด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อหักกลบทั้งสองด้านแล้วจึงอาจจะทำให้ส่วนขาดและส่วนเกินลงตัวกันได้
นอกจากกรณีดังกล่าวนี้แล้ว
การ “ขายพ่วง”
ยังอาจนำไปใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความต้องการใช้อำนาจเหนือตลาดที่มีอยู่ในสินค้าประเภทหนึ่งไปยังตลาดสินค้าอีกประเภทหนึ่งได้อีกหลายลักษณะ
เช่น การรักษาชื่อเสียงของสินค้า
การใช้เป็นวิธีการคิดราคาค่าตอบแทนตามอัตราการใช้งาน เป็นต้น
ซึ่งมีรายละเอียดเกินกว่าจะนำมากล่าวไว้ในที่นี้ได้ทั้งหมด
การขายพ่วงไม่ว่าจะทำด้วยสาเหตุอย่างไรก็ตามจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอยู่คือทำให้ผู้ซื้อสินค้าไม่มีอิสระในการที่จะเลือกซื้อ
“สินค้าที่ถูกนำไปพ่วง”
เนื่องจากถูกบังคับให้ต้องซื้อไปพร้อมกับสินค้าชนิดแรกแล้ว
แม้ในความเป็นจริงไม่ได้มีอะไรห้ามไม่ให้ผู้ซื้อไปซื้อสินค้าดังกล่าวจากที่อื่นอีก
แต่เมื่อมีสินค้าที่คล้ายคลึงกันอยู่ในมือแล้ว
ความจำเป็นที่จะต้องไปซื้อจากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอีกย่อมลดลง
และผู้ซื้ออาจจะไม่ต้องการซื้อสินค้าที่เหมือนๆ กันมาซ้ำซ้อนอีก
การขายพ่วงดังกล่าวนี้หากทำโดยผู้ประกอบธุรกิจทั่วๆ
ไปอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจในตลาดมากนัก เพราะหากผู้ซื้อเห็นว่าเมื่อต้องซื้อสินค้ารวมกันไปทั้งที่ต้องการซื้อจริงๆ
และที่ถูกบังคับให้ซื้อแล้วราคาสูงเกินไป
ผู้ซื้อย่อมจะสามารถไปซื้อหาสินค้าลักษณะที่คล้ายคลึงกันจากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ไม่ยากนัก
เนื่องจากในสายตาของผู้ซื้อ การที่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าทั้งสองชนิดมีผลที่ไม่แตกต่างจากการขึ้นราคามากนัก
แต่หากการขายพ่วงนั้นเป็นการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่
ผลที่จะเกิดขึ้นย่อมจะแตกต่างกัน
เพราะแม้จะถูกบังคับให้ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นและต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น
แต่ผู้ซื้อก็ไม่มีทางเลือกมากนัก การจะเลี่ยงไปหาซื้อสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก
ทำให้สุดท้ายจำเป็นต้องซื้อสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ดังกล่าวทั้งในส่วนของสินค้าที่ตนต้องการและสินค้าที่ถูกบังคับขายพ่วงมาด้วยกัน
ในกรณีที่เป็นการกระทำของ
“ผู้มีอำนาจเหนือตลาด”
กฎหมายการแข่งขันทางการค้าจึงได้กำหนดห้ามมิให้กำหนดเงื่อนไขที่เป็นการบังคับอย่างไม่เป็นธรรมให้ต้องถูกจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น
แต่มีข้อสังเกตว่าการกำหนดเงื่อนไขบังคับนี้กฎหมายกำหนดให้เป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดบังคับ
“ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของตน” กรณีของเก่งกับแม่ข้างต้นจึงอาจจะไม่เข้าลักษณะองค์ประกอบประการนี้ แต่การที่ผู้ผลิตเครื่องเล่นเกมและเกมกำหนดเงื่อนไขบังคับกับร้านขายปลีกให้ต้องรับซื้อทั้งเครื่องเล่นเกมและเกมไปพร้อมกันก็อาจจะเข้าลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม
เนื่องจากการประกอบธุรกิจลักษณะนี้มีทั้งคุณและโทษ
จึงอาจจำเป็นต้องแยกแยะให้ดีว่าสิ่งที่ทำไปนั้นจัดอยู่ในประเภทใดเพื่อมิให้การบังคับการตามกฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจโดยไม่จำเป็น
ห้ามผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการบังคับอย่างไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นลูกค้าของตนต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น
|
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น